ติดต่อเรา 094-746-8888,095-414-2345

59/21 ถ.พระภูเก็ตแก้ว ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 83120

เวลาทำการ

จันทร์ - เสาร์: 9:00 - 17:00

บทความ

จุดจบของคนหลบภาษี? เมื่อธนาคารถูกสั่งให้ส่งข้อมูลบัญชีกับสรรพากร

บทความ

วันนี้ได้ยกเรื่องนี้มาพูดเนื่องจากผลของร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพิ่มเติมฉบับล่าสุด ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment Master Plan นั้น กำหนดให้ทางสถาบันการเงินต่างๆ นั้นต้องนำส่งรายงานข้อมูลของบุคคลที่มี “ธุรกรรมพิเศษ” ถูกในแต่ละปีให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมปีถัดไป เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีว่าถูกต้องหรือไม่



โดยนิยามของคำว่า “ธุรกรรมพิเศษ” ทีว่านั้น หมายถึง ธุรกรรมที่มีการ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปหรือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป สรุปว่า… รับเงินเกิน 200 ครั้งต่อปี และมียอดรวมเงินเกิน 2 ล้านบาท หรือ รับเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี (รวมทุกบัญชี) นั่นเอง

ลองตีความเล่นๆ คำว่า “ฝากหรือรับโอนเงิน” ที่ว่านี้ น่าจะหมายถึงการที่มียอดเงินโอนเข้าบัญชีของเราครับ โดยรวมเป็นรายบุคคล ทุกบัญชี แต่ส่งเป็นรายสถาบันการเงิน ดังนั้นตรงนี้ต้องดูต่อไปครับว่า ข้อมูลของแต่ละสถาบันการเงินจะเชื่อมต่อกันแบบไหนยังไงในอนาคตครับผม แต่อย่างไรก็ดี ตรงนี้ยังมีเรื่องของวงเงิน 2 ล้านบาทที่เป็นเพดานกั้นอยู่ ดังนั้นผู้ที่มีรายได้เยอะๆเห็นทีจะรอดยาก





ผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่แค่ธุรกิจออนไลน์อย่างเดียวแต่กระทบเป็นวงกว้างต่อหลายกลุ่ม จากร่างข้อกฎหมายข้างต้น ลองแยกประเด็นต่อไปว่า ธุรกิจที่มีรายการโอนเงินเยอะๆ รับเงินเยอะๆ นั้นจะต้องโดนเงื่อนไขนี้ด้วยกันทั้งหมดค ถึงแม้ว่าหลายคนจะคิดว่าจำกัดแค่ธุรกิจออนไลน์ แต่จริงๆแล้วไม่ได้จบแค่นั้น เพราะว่าบุคคลธรรมดาทุกคนที่มีรายการรับจ่ายเยอะทั้งหลายก็ต้องโดนหมด รับเงินครั้งละหลักสิบหรือหลักร้อยเกินกว่า 3,000 ครั้งต่อปี ก็มีสิทธิถูกตรวจสอบได้ทั้งหมดเลย



ดังนั้นไม่ว่าจะทำธุรกิจออนไลน์ โอนไว เป็นนายหน้า ค้าหมูปิ้ง ชิ่งโต๊ะบอล เล่นพนันออนไลน์ ขายเงินตรา ทุกๆอย่างที่มีการโอนเงินทั้งหลายมากมายผ่านบัญชีธนาคารย่อมจะมีความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบทั้งหมด แต่คนขายของออนไลน์อาจจะรู้สึกกลัวกว่าคนอื่นหน่อย เพราะเป็นการทำธุรกิจที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด



คำถามที่ต้องรีบตอบโดยด่วน คือ ถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้จริง เราควรจะทำยังไง

หลังจากที่เราบ่น ด่า และต่อว่ากันอย่างสาแก่ใจแล้ว ทีนี้มันต้องดูกันครับว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ เราควรจะทำยังไงดี ซึ่งพรี่หนอมเองนั้นมีแนวทางที่อยากจะแนะนำไว้สัก 2 ข้อดังนี้



1. บัญชีรายรับรายจ่าย อันนี้บอกเลยว่าต้องทำ โดยให้รู้ว่า “ทุกรายการเงินเข้าในบัญชีธนาคาร” นั้น “เป็นรายการเกี่ยวกับอะไร” ซึ่งการจดบันทึกรายการบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยเราได้ง่ายที่สุด

2. แยกบัญชีธนาคารตามประเภทของการใช้งาน จากผลของที่ธนาคารมีค่าธรรมเนียมฟรีประกอบกับการที่ระบบพร้อมเพย์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก ทำให้อุปสรรคในการโอนเงินนั้นหมดไป การเปิดบัญชีแต่ละบัญชีเพื่อใช้งานนั้น ขอให้แยกตามประเภทของการใช้จ่าย เช่น ใช้จ่ายส่วนตัว รับรายได้จากการทำงานหรือธุรกิจ บัญชีลงทุนต่างๆหรือรับรายได้อื่น บัญชีรับเงินปันผลดอกเบี้ย ไม่ใช่เพื่อใช้ในการหลบเลี่ยงนะครับ แต่ทำเพื่อใช้ในการจัดการบริหารการเงินให้สามารถลงบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายได้สะดวกขึ้นครับ (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ )



โดยหลักการในข้อ 1 และ 2 นั้นเป็นหลักการพื้นฐานทางด้านการจัดการการเงินและการจัดการภาษีส่วนบุคคลอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนปัญหาอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เคยทำมาก่อน แต่ถ้าหากใครได้ทำแล้วจะรู้ว่าเราสามารถวางแผนการเงิน จัดการเรื่องภาษีได้อย่างมีระบบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับตัวเราเองและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากถูกตรวจสอบได้ไปพร้อมๆกัน



อย่าคิดไปไกลเรื่องสังคมไร้เงินสด เงินในระบบจนเข้าใจผิดว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพราะพร้อมเพย์



อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเขียนชี้แจงไว้สำหรับการรับข่าวสารในช่วงนี้คือ เรื่องทั้งหมดที่เขียนนี้ไม่เกี่ยวกับการสมัครพร้อมเพย์ในการใช้งานนะครับ เราต้องแยกก่อนว่าพร้อมเพย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใช้ในการโอนเงินและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิเลือกที่จะสมัครหรือยกเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้คือการระบุให้สถาบันการเงินต่างๆ มีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด (ธุรกรรมพิเศษ) ให้กับกรมสรรพากรตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่ทำก็มีความผิดกันไป ดังนั้นธนาคารก็ต้องทำตามหน้าที่ของเขาไป



นอกจากนั้นในเรื่องของกฎหมาย ก็ต้องบอกอีกว่า หลักการกฎหมายภาษีบ้านเรานั้น เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีได้อยู่โดยอำนาจตามกฎหมายดั้งเดิม นั่นคือ ถ้าหากสงสัยสามารถขอตรวจสอบได้ทันที (อ่านภาษากฎหมายได้ที่ มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฏากรครับ) ซึ่งไม่เกี่ยวว่าการเปิดพร้อมเพย์จะทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขี้นนะครับ มันคนละเรื่องกัน ไอ้ที่ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นจริงๆนั้น อาจจะมาจากกฎหมายฉบับนี้มากกว่าด้วยครับที่ให้อำนาจในการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าผ่านขึ้นมาจริงๆ แล้วเราไม่มีหลักฐานแสดงให้เชื่อว่าเราทำถูกต้องมันก็อาจจะเป็นปัญหาตามมาได้



ท้ายที่สุดนี้เชื่อว่า สิ่งที่เราทำได้จริงๆ คือ การปรับตัวกับสิ่งที่จะออกมา โดยการเตรียมข้อมูล หลักฐาน และพิสูจน์ว่าเรานั้นมีรายได้ถูกต้องตามที่ยื่นภาษีจริง (หากถูกตรวจสอบขึ้นมา) เพราะตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของประชาชน

pico-thailand แหล่งเงินทุน กู้เงิน เงินด่วน กู้ง่าย อนุมัติไว

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 094-746-8888,095-414-2345